วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ อ.เมือง จ.ชลบุรี




พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เป็นที่เสาะแสวงหากันมาก เนื่องจากมีประสบการณ์ แม้แต่พระเกจิอาจารย์แถบฝั่งตะวันออก เมื่อหลวงพ่อแก้วมรณภาพแล้ว มีหลายวัดสร้างพระปิดตากัน จนใครเห็นก็เรียกว่า พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว

ในกระบวนพระปิดตาที่พระคณาจารย์ผู้ได้สร้างเป็นรูป องค์ภควัมบดี ประเภทเนื้อผงคลุกรัก หรือจุ่มรักที่ยิ่งใหญ่แห่งภาคตะวันออก ก็ต้องยกนิ้วให้กับ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เมืองชลบุรี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดพระปิดตาที่ใครๆ ต้องยอมรับว่าของท่านแน่จริงๆ

ในขบวนพระชุด "ห้าขุนศึก" ที่ชาววงการเรียกหากันนี้น มีดังนี้
1. พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์
2. พระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพง
3. พระปิดตาหลวงพ่อโต วัดเนินสุทธาวาส
4. พระปิดตาหลวงพ่อครีพ วัดสมถะ
5. พระปิดตาหลวงพ่อภู่ วัดนอก
ซึ่งแต่ละองค์ที่ได้กล่าวนามมานี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองชลบุรี

ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของ องค์ภควัมบดี ที่หลวงพ่อแก้ว ใช้ในด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ทุกคนต่างยอมรับ ด้วยเหตุนี้พระของท่านในวงการจึงยกย่องให้อยู่ในอันดับหนึ่งของพระปิดตาประเภทผงคลุกรักหรือจุ่มรัก

เป็นที่น่าเสียดายว่า ชีวประวัติของท่านนั้นลางเลือนเต็มที เพราะไม่มีใครเขียนรวบรวมไว้ ทุกท่านจึงไม่มีโอกาสที่จะได้ทราบประวัติอันแท้จริงของท่าน นอกจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้แล่าสืบกันมา แต่ไม่ใช่นิยาย

ปกติข้าพเจ้าได้สนใจเรื่องพระปิดตาของท่าน และได้พยายามค้นคว้าศึกษาชีวประวัติของท่านมาเป็นเวลานาน ได้มีโอกาสสนทนากับผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกนั้น และพระเถรานุเถระ อีกทั้งพระที่อยู่ในเขตเมืองชลบุรีมาเก่าแก่ ได้เล่าถึงความเป็นมาของหลวงพ่อแก้ว พอที่จะรวบรวมเป็นข้อมูลมาให้ทุกท่านได้มีโอกาสศึกษากัน

หนังสือหลายฉบับเขียนกันมาก็มากพอสมควร ส่วนมากจะเขียนว่า ท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด และเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยแท้จริงแล้ว หลวงพ่อแก้วไม่เคยเป็นเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์มาก่อน ท่านเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาเท่านั้น ส่วนที่ว่าเป็นพระอุปัชฌาย์เจ้าอาวาสนั้นคือ หลวงพ่อแก้ว วัดหนองตำลึง ชลบุรี ซึ่งมีพรรษาอ่อนกว่า หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ 20 กว่าปีนั่นเอง

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ นามเดิมชื่อ แก้ว ต้นสกุล ผุดผาด ถิ่นกำเนิดเป็นชาวเมืองเพชรบุรี มีถิ่นฐานอยู่แถวๆ หลังวัดป้อม เพชรบุรี กล่าวกันว่าชาติสกุลของท่านเคยเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรีมาก่อน รูปร่างของท่านสันทัด มีผิวกายดำมะเมื่อม (เพราะอาบว่านยา) ในวัยหนุ่มเป็นคนพูดจริงทำจริง นิสัยนักเลงไม่เกรงกลัวใคร สนใจศึกษาวิชาอาคมมาตั้งแต่วัยหนุ่ม อีกทั้งยังเชี่ยวชาญด้วย ชาวบ้านในละแวกนั้น ต่างศรัทธาเลื่อมใส เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาให้ท่านรักษาให้ (เรียกว่าหมอประจำหมู่บ้าน) อีกทั้งท่านยังเป็นอาจารย์สัก ลูกศิษย์ลูกหามากมาย บ้างก็มาขอให้ทำเสน่ห์ยาแฝด บางคนถูกคุณไสยอีกทั้งยาเบื่อยาสั่ง ก็มาให้ท่านช่วยรักษาให้ จนกิตติศัพท์ของท่านโด่งดังไปทั่ว จวบจนอายุท่านเข้าวัยกลางคน คือ อายุประมาณ 40 เศษ ท่านเกิดเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายในชีวิตฆราวาส จึงได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดในจังหวัดเพชรบุรี บางท่านก็ว่าบวชที่วัดปากทะเล บางท่านก็ว่าบวชที่วัดพระทรง

ตามข้อมูลสันนิษฐานจากผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เล่าสืบกันมาพอเชื่อถือได้ว่า ท่านบวชอยู่วัดพระทรงเพียงไม่กี่พรรษา ก็เกิดความรำคาญที่ไม่ค่อยมีเวลาปฏิบัติ เพราะลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาท่านตอนเป็นฆราวาสต่างไปรบกวนกันทุกวันจนไม่มีเวลาพักผ่อน ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ วัดปากทะเล และได้มีเวลาว่างจัดสร้างพระขึ้น โดยท่านมีความเชี่ยวชาญในด้านว่านและสมุนไพรมาก ท่านจึงนำผสมผสานกับผงที่ท่านลงสูตรเก็บไว้ มาสร้างเป็นองค์พระแจกจ่ายแก่ผู้มีศรัทธา หลังจากท่านย้ายไปอยู่วัดปากทะเลไม่นาน ก็มีลูกศิษย์ลูกหาติดตามไปหาท่านอีก นับวันจะทวีมากขึ้น ท่านเจ้าอาวาสเกิดการเขม่นท่านที่เป็นพระลูกวัดแต่มีคนศรัทธามาก แต่เจ้าอาวาสกลับไม่ค่อยมีใครไปหาเท่าไหร่ จึงได้พูดจาเสียดสีอยู่ทุกวัน ท่านก็เกิดการสังเวชสลดใจ จึงตัดสินใจอาศัยเรือชาวประมงข้ามทะเลมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเครือวัลย์ ชลบุรี กล่าวกันว่าในขณะนั้นท่านอายุได้ 60 ปีเศษ และทางวัดเครือวัลย์ในยุคนั้นยังไม่เจริญ ถาวรวัตถุต่างๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมลง ท่านได้มาจำพรรษาอยู่อย่างเงียบๆ ปฏิบัติวัปัสสนากรรมฐาน พอออกพรรษาท่านก็ออกเดินธุดงค์ไปทั่ว

มีเรื่องเล่าว่า ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางจังหวัดปราจีนบุรี และได้อยู่ศึกษาวิชาอาคมกับ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะเป็นทางผ่าน กล่าวกันว่า หลวงพ่อแก้ว มีอายุอ่อนกว่า หลวงปู่จีน 28 ปี พอจะอนุมานได้ดังนี้ หลวงปู่จีนเกิดในระหว่างปี พ.ศ.2357-2440 ส่วนหลวงพ่อแก้ว เกิดในระหว่างปี พ.ศ.2380-2390 ซึ่งตรงกับผู้เฒ่าชาวเมืองชลบุรีได้เล่าว่า ในสมัยที่ หลวงพ่อแก้ว มีชื่อเสียงโด่งดังเกี่ยวกับพระปิดตาของท่าน เป็นยุคที่ พระอุปัชฌาย์ถัน เป็นเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ แต่มีอายุอ่อนกว่าหลวงพ่อแก้วหลายสิบปี เพราะว่าถ้า หลวงพ่อแก้วเกิดในระหว่างปี พ.ศ.2380 ตอนหลวงพ่อถัน เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อแก้วมรณภาพอายุประมาณ 80 กว่า ก็อยู่ระหว่าง พ.ศ.2460-2470 เมื่อคำนวณ พ.ศ. แล้วก็มีความใกล้เคียงกันถึง 95 % ทีเดียว

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง พิมพ์สมาธิ

พระหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง พิมพ์สมาธิ





พระกรุ หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี ตอกโค๊ตดอกจันทร์ แตกกรุออกมาเมื่อปี 2534 มีทั้งพิมพ์ปิดตานิยมของท่านคือ พิมพ์ชะลูดและพิมพ์ตะพาบ และพระเนื้อผงร่วมกรุอย่างน้อย 7 พิมพ์ จากข้อมูลหลายๆแหล่งทำให้ปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เซียนระดับหลายท่านหันมารับเข้าและจัดให้บูชาแล้วครับ เนื้อพระจะเป็นเนื้อปูนเปลือกหอยบดผสมผงพุทธคุณ ออกมาจากกรุบางองค์มีคราบบางๆ บางองค์ก็หนา แล้วแต่พื้นที่ๆพระอยู่ และพระมีความแห้งสูงมาก มีทั้งเนื้อขาวและเนื้อดำซึ่งจะหาได้ยากกว่า พุทธคุณเท่าที่ปรากฏประสบการณ์ ไม่แตกต่างจากพระปิดตา วัดสะพานสูงเพราะผู้ที่ประจุพุทธคุณนั้นเป็นองค์เดียวกันครับ เป็นพระที่น่าเก็บมากเพราะยังมีคนรู้น้อย แต่อีกไม่นานน่าจะติดลมบน เพราะมีผู้หันมาสนใจมากขึ้น สำหรับพระกรุนี้เนื้อหาความแห้ง ความคมชัดของตราดอกจันทร์ซึ่งจะมีมิติความลึกได้ไม่เท่ากัน ความสมบูรณ์ของพิมพ์ทรงเป็นจุดบ่งบอกความแท้ได้เป็นอย่างดี พระเนื้อผงหลวงปู่เอี่ยม กรุวัดสะพานสูง เป็นพระเนื้อผงที่ถูกบรรจุกรุเจดีย์ใหญ่ที่สร้างโดยหลวงปู่เอี่ยม แต่สร้างเจดีย์ยังไม่ทันเสร็จหลวงปู่เอี่ยมก็มรณภาพเสียก่อนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2430 หลวงปู่กลิ่นซึ่งเป็นศิษย์จึงสร้างต่อแล้วบรรจุพระชุดนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าพระลำพูน เข้าไปในเจดีย์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัญหาว่าพระชุดนี้หลวงปู่เอี่ยมสร้างรอไว้เพื่อบรรจุกับเจดีย์ หรือหลวงปู่กลิ่นสร้างเพื่อบรรจุเจดีย์เมื่อเจดีย์เสร็จในสมัยท่าน ในปี 2439 พระชุดนี้ถูกบรรจุโดยหลวงปู่กลิ่น ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่กลิ่นท่านอายุพียง 31ปี พระชุดนี้เสกแล้วโดยหลวงปู่เอี่ยมแน่นอน ผงวิเศษที่ผสมก็น่าจะเป็นผงโสฬสมงคลเช่นเดียวกับที่สร้างพระปิดตาท่าน เมื่อพระแตกออกมาประมาณปี 2534 พระส่วนมาก จะเนื้อหาและคราบคล้ายกับกรุบางขุนพรหม และกรุวัดเงินคลองเตย พระก็ถูกจำกัดวงแคบอยู่นาน จนปัจจุบันเริ่มแพร่หลาย พุทธคุณเรื่องเมตตามหานิยม เรียกว่าสุดยอดพอดู พระสวยเดิมๆ เซียนพระชื่อดังซึ่งสันนิษฐาน ว่าพระกรุของหลวงปู่เอี่ยมน่าจะสร้างไล่เลี่ยกับสมเด็จวัดระฆังหรือหลังไม่นาน หรือประมาณ สมัย ร.5 ท้องถิ่นเก็บกันหมดhttp://www.baanbangbon.lnwshop.com

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม

http://www.baanbangbon.lnwshop.com

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง

หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม เกิดวันพฤหัส เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ.2538 เป็นบุตร นายนาค นางจันทร์ นามสกุลไม่ทราบชัด ท่านเป็นพี่ชายใหญ่ และมีน้องอีก 3 คน คือ นายฟัก นางขำ และนางอิ่ม บ้านเดิมอยู่ ต.คลองพระอุดม (บ้านแหลมฝั่งใต้) ข้างวัดท้องคุ้ง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อายุ 22 ปี ได้อุปสมบทที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อุปสมบทแล้วได้อยู่ที่วัดนี้ 1 สัปดาห์ ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี มีพระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าอาวาส ได้เรียนพระปริยัติธรรมและแปลพระธรรมบท ได้จำพรรษาที่วัดนี้ 7 พรรษา พ.ศ.2387 ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี จำพรรษาที่วัดนี้ได้ 3 พรรษา พ.ศ.2390 นายแขกเป็นสมุห์บัญชี บ้านอยู่ข้างวัดนางชี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน ได้นิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดนวลนรดิศ ธนบุรี ปรากฏว่าท่านอยู่ที่วัดนี้ ท่านได้สนใจกรรมฐานเป็นอย่างมาก ได้จำพรรษาที่วัดนี้ 5 พรรษา ต่อมาภายหลังพวกชาวบ้านแหลมได้พากันไปอ้อนวอนให้หลวงปู่เอี่ยมกลับไปภูมิลำเนาเดิม ครั้นจะไม่ไปก็กลัวญาติโยมจะเสียใจ ครั้นถึงเดือน 6 พ.ศ.2395 จึงได้ย้ายมาอยู่วัดสว่างอารมณ์ (สะพานสูง)) ต.บ้านแหลมใหญ่ (ต.คลองพระอุดม) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขณะนั้นมีพระ 2 รูปเท่านั้น ในระหว่างที่ท่านได้ย้ายมาอยู่วัดสะพานสูง ท่านได้ออกธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร โดยมีพระลูกวัดติดตามไปด้วย แต่ท่านจะให้พระลูกวัดออกเดินทางไปก่อนประมาณ 6-7 ชั่วโมง แล้วนัดพบกันในที่ใดที่หนึ่ง ท่านจะสามารถไปทันตามนัดทุกครั้ง จากการธุดงค์และรุกขมูลนี้เอง หลวงปู่เอี่ยมได้พบกับชีปะขาวชาวเขมรชื่อว่าจันทร์ ท่านจึงได้เรียนวิชาอิทธิเวทย์ จากอาจารย์ท่านนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งชาวบ้านแหลมใหญ่ นึกว่าท่านออกธุดงค์ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว เนื่องจากไม่กลับวัดมาหลายปี จึงได้ทำสังฆทานแผ่กุศลไปให้ ทำให้หลวงปู่เอี่ยมทราบในญาณของท่าน ท่านจึงเดินทางกลับวัดสะพานสูง ปรากฏว่าท่านไม่ได้ปลงผม ผมจึงยาวถึงบั้นเอว จีวรขาดรุ่งริ่ง หนวดเครายาวเฟิ้ม พร้อมกับมีสัตว์ป่า เช่น หมี เสือ งูจงอาง จากการเจริญกัมมัฏฐานนี้ มีเรื่องเล่าว่ามีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตก และดุมาก เป็นที่เกรงกลัวแก่ชาวบ้านแถบนั้น หลวงปู่เอี่ยมจึงได้มายืนเพ่งอยู่ 3 วันเท่านั้น ต้นตะเคียนก็เฉาและยืนต้นตาย หลวงปู่เอี่ยมเป็นผู้มีอาคมขลัง วาจาสิทธิ์ มักน้อย สันโดษ ท่านเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้รุ่งเรือง จนถึงปัจจุบันนี้ และท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ในสมัยที่ท่านสร้างพระอุโบสถ ท่านได้สร้างพระปิดตาไว้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ตะพาบ และพิมพ์ชลูด ส่วนตอนสร้างเจดีย์ท่านได้สร้างตะกรุดมหาโสฬสมงคล อันลือลั่น ซึ่งหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก



กล่าวถึง “หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง” นักสะสมพระปิดตาทุกคนย่อมรู้จักกันดีในฐานะพระเกจิอาจารย์ ผู้สร้างพระปิดตาอันลือลั่น และตะกรุดมหาโสฬสมงคล ที่เปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพและอภินิหารมากด้วยประสบการณ์ ส่วนพิมพ์ของหลวงปู่เอี่ยมนั้น นอกจากท่านได้สร้างพระปิดตาอันลือลั่นแล้ว ท่านก็ได้สร้างพระพิมพ์อื่นๆ อีก ที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมาได้แก่ พระพิมพ์สมาธิเล็บมือเนื้อผงขาวอมเขียว และเนื้อผงคลุกรักมีทั้งเล็กและใหญ่ นอกจากนั้นก็ยังมีพระพิมพ์พระคงเนื้อคลุกรัก แต่อย่างไรก็ดี พระพิมพ์สมาธิชุดนี้ไม่ค่อยได้แพร่หลายในหมู่นักเล่นเท่าไหร่นัก เพราะพระก็หายาก และยังเล่นกันสับสนพอสมควรอีกด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมของวงการดังเช่นพระปิดตาของท่าน





นอกจากพระพิมพ์ปิดตานิยมทั้ง 3 พิมพ์นี้แล้ว ยังมีพระปิดตาอีกพิมพ์หนึ่งที่ไม่ค่อยได้ผ่านตาเท่าไหร่ นั่นก็คือพระปิดตากลีบบัว หรือที่นักเล่นเรียกหากันว่า “พระปิดตาพิมพ์กลีบบัว” มีทั้งเนื้อผงขาวและเนื้อผงคลุกรัก สันนิษฐานว่า คงจะเป็นคณะลูกศิษย์แกะพิมพ์ขึ้นมาเอง แล้วก็สร้างถวายท่าน เพื่อให้ท่านปลุกเสกให้ หรืออาจจะเป็นแม่พิมพ์ที่สร้างในยุคหลังหรือยุคปลายชีวิตท่านหลวงปู่ เราจะเจอพระพิมพ์นี้โดยมากในพระเจดีย์ ตอนที่พระเจดีย์แตกในปลายปี พ.ศ.2534 และทางวัดก็ได้เอาพระปิดตาพิมพ์นี้ให้ประชาชนได้บูชาในราคา 10,000 บาท ต่อ 1 องค์ ล้วนแล้วเป็นพระปิดตาที่ได้มาจากองค์เจดีย์ทั้งสิ้น และก่อนหน้านี้ก็มีการแตกกรุออกมาเหมือนกัน ในสมัยหลวงพ่อทองสุข ในปี พ.ศ.2516 พระปิดตากลีบบัวก็ได้ออกมาจากกรุ แต่จำนวนไม่มากเท่าไหร่นัก













            พระปิดตาเนื้อนี้จะประกอบ หรือสร้างขึ้นด้วยผงพุทธคุณสีขาวผสมกับว่านยาวิเศษต่างๆ ที่ท่านหลวงปู่เอี่ยมหามาได้ นำมาบดกันให้ละเอียด เมื่อบดให้เข้ากันแล้วก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานจนได้ที่ ก็นำเนื้อพระปิดตาที่ได้มากดลงในแม่พิมพ์พระปิดตา และเมื่อได้เป็นพระปิดตาขึ้นมาแล้ว ก็นำมาจุ่มรักอีกทีหนึ่ง พระปิดตาเนื้อนี้ เนื้อในส่วนมากจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนนวลหรือสีไข่ไก่ ในบางองค์ที่ผสมว่านยามากๆ ก็จะออกเป็นสีไข่ไก่อมเทาหรือสีเขียวนิดๆ เนื้อจะร่วนๆ ไม่แน่นตัวมากเหมือนเนื้อผงคลุกรัก พระเนื้อนี้มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ



            พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมเนื้อนี้ มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ในองค์ที่เนื้อละเอียดมากๆ เนื้อหาจะออกไปทางเนื้อพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ หรือพระปิดตาหลวงปู่จีน หรือที่เราเรียกกันว่า “เนื้อกะลา” เนื้อจะออกไปทางสีน้ำตาลเข้มละเอียด เมื่อลองส่องดูด้วยแว่นขยายอาจจะพบมวลสารหรือเม็ดรักที่ละเอียดเป็นเม็ดเล็กๆ ประปราย แต่ส่วนมากมักจะมองไม่ค่อยเห็น เพราะว่าเนื้อว่านยาจะถูกบดจนละเอียดดีแล้ว จึงนำยางรักมาเป็นตัวผสานให้เนื้อพระยึดติดกันแน่น เมื่อเนื้อพระแห้งดีแล้วจึงแลดูแน่นตัว และเป็นเนื้อเดียวกันหมด เมื่อถูกสัมผัสโดนไอเหงื่อ พระจะแลดูมันเงาหนึกนุ่มสวยอย่าบอกใคร ส่วนในองค์ที่เนื้อหยาบก็จะแลเห็นเม็ดมวลสารอยู่บนผิวพระที่ค่อนข้างหยาบไม่เรียบตึง เมื่อลองดูด้วยกล้องขยาย ก็จะเห็นเม็ดมวลสารและกากว่านยาไปจนถึงเม็ดรักสีดำได้อย่างชัดเจน ในบางองค์ที่จุ่มยางรักและผ่านการใช้มาด้วยแล้ว จะแลดูเนื้อจัด สวยซึ้งไปอีกแบบหนึ่ง เป็นที่นิยมของวงการเลยทีเดียว


            หลายท่านยังถกเถียงหาข้อยุติกันไม่ได้ว่า เนื้อผงขาวนั้นมีจริงอยู่หรือไม่ และทันหลวงปู่เอี่ยมสร้างหรือเปล่า เพราะพระเนื้อนี้มีน้อยมาก บางท่านอาจจะไม่รู้ ไม่เคยเห็น เลยตีเป็นพระของหลวงปู่กลิ่น ลูกศิษย์ท่านไปเลยก็มี แต่ในหลักของความเป็นจริงแล้ว ข้าพเจ้าว่ามีจริงอย่างแน่นอน เพราะพระอาจารย์ทุกองค์ที่เคยได้สร้างพระปิดตามาแล้วในอดีต มักจะสร้างพระปิดตาเนื้อผงขาว และเนื้อผงคลุกรักสลับกันไป ขึ้นอยู่กับการทำแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน บางทีหลวงปู่ท่านอาจจะใช้ผงพุทธคุณล้วนๆ ผสมกับส่วนผสมเพียงไม่กี่อย่าง แล้วนำไปกดพิมพ์เป็นองค์พระ ผงที่ทำนั้นอาจจะหมดโถเร็ว เพราะการสร้างแต่ละครั้งต้องใช้ผงมากและสิ้นเปลือง จึงคิดวิธีประหยัดผงให้หมดช้าลง โดยการใส่ว่านยาต่างๆ และนำยางรัก หรือน้ำมันตังอิ๊วมาเป็นตัวผสมดังที่กล่าวมาแล้วในขั้นต้น เพื่อให้ได้พระปิดตาในปริมาณที่มากกว่านั่นเอง และเพื่อเป็นการประหยัดผงพุทธคุณต่างๆ ไปในตัวด้วย

            พระปิดตาเนื้อผงขาวของหลวงปู่เอี่ยมคงจะมีไม่มากนัก เพราะเหตุว่าในการสร้างแต่ละครั้งนั้น ต้องใช้ผงพุทธคุณมาก จึงทำให้ผงพุทธคุณต่างๆ เหล่านั้นหมดเร็วขึ้น และเป็นการสิ้นเปลืองผงพุทธคุณโดยไม่จำเป็น จึงสันนิษฐานว่า ในการทำพระปิดตาเนื้อผงขาวนั้น คงจะทำขึ้นในโอกาสสำคัญๆ เพื่อเป็นที่ระลึกเท่านั้น หรือไม่ก็ทำขึ้น เพื่อบูชาเป็นที่ระลึกในหมู่ลูกศิษย์ และอาจจะเป็นไปได้ที่ว่า บรรดาลูกศิษย์อาจจะขอผงพุทธคุณจากท่านหลวงปู่ แล้วนำไปกดพิมพ์เป็นองค์พระกันเอง เมื่อกดขึ้นมาเป็นองค์พระแล้ว ก็นำพระปิดตาเนื้อผงขาวเหล่านั้นมาให้หลวงปู่ปลุกเสกเวทย์มนต์ให้อีกที ก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งสิ้น ข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงทำให้พระปิดตาเนื้อผงขาวนั้นมีน้อยกว่าพระปิดตาเนื้อคลุกรักมาก เลยไม่แพร่หลายและในที่สุดก็ขาดความนิยม เพราะไม่ค่อยได้เคยเห็นของจริงกัน



            นอกจากพระปิดตาเนื้อผงต่างๆ แล้ว ก็คงจะมีพระปิดตาเนื้ออื่นๆ ด้วย เช่น พระปิดตาเนื้อชินตะกั่ว ดังที่นักเล่นพระปิดตารุ่นเก่าได้เล่ากันมาว่าบรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ตัวท่าน คงจะเอาแผ่นตะกั่วน้ำนม ที่ท่านใช้ลงตะกรุดนั้น มาให้ท่านลงเลขยันต์อักขระให้เสร็จแล้วก็นำไปหลอมไฟให้แผ่นตะกั่วละลายแล้ว ก็เทลงในแม่พิมพ์พระปิดตา เมื่อตะกั่วแข็งตัวแล้วก็นำพระปิดตานั้นมาให้ท่านหลวงปู่ปลุกเสกอีกครั้ง บางองค์ก็ลงอักขระอีกครั้งก็มี ส่วนเนื้อไม้แกะลอยองค์ และเนื้องาแกะนั้น ก็อาจมีได้เช่นกัน คงจะมีคนแกะขึ้นแล้วนำมาถวายให้ท่านปลุกเสก จะถึงยุคหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเก่าของเนื้อไม้และเนื้องาเหล่านั้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงคำบอกเล่าและเป็นข้อสันนิษฐาน จึงอยากให้ท่านผู้อ่านนำไปคิดพิจารณาว่าน่าจะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดตามความเหมาะสม


            พื้นผิวพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม โดยมากจะต้องดูแห้ง มีรอยปริแตกหรือรอยหดตัวของเนื้อหามวลสารไม่มากก็น้อย เนื่องจากได้ผ่านกาลเวลามาร้อยกว่าปีแล้ว คราบความเก่าย่อมปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ถ้าเป็นองค์ที่มีเนื้อละเอียด ผิวพระจะแลดูตึง จะไม่ค่อยมีรอยหดตัวของมวลสารเท่าไหร่ เพราะว่านยาต่างๆ ถูกบดจนละเอียดมาก แล้วถ้านำยางรักมาผสมอีก เวลาเนื้อพระแห้งตัวก็จะทำให้เนื้อพระแน่นตัวและแข็งขึ้นไปอีก เพราฉะนั้นการดูผิวพระ ต้องอาศัยความชำนาญในการดูความเก่าเป็นบ้าง พระปิดตาบางองค์อาจจะมีรอยย่นหดตัวของเนื้อหามวลสารต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการบดว่านยาแต่ละครั้งว่าจะบดได้ละเอียดเพียงใด ใส่ว่านยามากน้อยเท่าไหร่ และผสมยางรักมากน้อยเท่าไร สิ่งเหล่านี้นำมาเป็นข้อพิจารณาได้ทั้งสิ้น

            สรุปแล้ว พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมควรจะมีรอยปริแตก ย่นยับ บนพื้นผิวพระไม่มากก็น้อย แต่ในบางองค์ที่มีรักทาเอาไว้ ก็ยิ่งง่ายต่อการพิจารณามากขึ้น คือให้ดูความแห้งเก่าของยางรัก ถ้าเก่าจริงจะมีรอยปริแตกของยางรัก และโดยมากยางรักมักจะกะเทาะตัวร่อนออกมาจากองค์พระไม่มากก็น้อย ผิวยางรักจะดูด้านไม่มีความเงามัน ยางรักบนพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม ส่วนมากจะเป็นสีแดงเลือดหมู หรือที่ในวงการเรียกกันว่า “รักจีน” แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นจุดตายในการดูรักบนพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมเสมอไป นอกจากรักสีแดงเลือดหมูแล้ว ก็ยังมีรักแดงอีกที่เรียกกันทั่วไปว่า “รักน้ำเกลี้ยงและรักดำ” รวมไปถึงยางไม้ต่างๆ อีก เช่น ยางลูกพลับ เป็นต้น แม้กระทั่งชันยาเรือที่ชาวบ้านเอาไว้อุดเรือกัน จะมีลักษณะเป็นผงสีแดง ต้องนำไปผสมกับน้ำมันยางและปูนแดง (ที่กินกับหมาก) ผสมให้เข้ากันดี แล้วจึงนำไปทาองค์พระปิดตาก็มี สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความเอาใจใส่ของเจ้าของพระ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านมักจะหาวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ตามท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัยนั้นก็ได้แก่ ยางรักและยางไม้ชนิดต่างๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดในสมัยนั้น หรือตามป่าหลังบ้านที่ตนอาศัยอยู่ เมื่อได้ยางไม้หรือยางรักเหล่านี้มาแล้ว ก็นำมาทาลงบนองค์พระปิดตาของตน เพื่อเป็นการถนอมผิวพระและอนุรักษ์ตามแบบฉบับของคนโบราณที่เขาทำกัน




            ถ้าจะถามว่า เป็นไปได้ไหมที่หลวงปู่เอี่ยมท่านจะสร้างพระปิดตาขึ้นก่อนหน้านี้ กระผมคิดว่าคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะตามหลักฐานที่วัดสะพานสูงบันทึกไว้อีกว่า หลวงปู่เอี่ยมได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ใดสะพานสูงในปี พ.ศ.2395 ซึ่งในขณะนั้นมีพระสงฆ์จำวัดอยู่เพียงไม่กี่รูปเท่านั้น สภาพวัดยังเป็นวัดเก่าร้างที่ขาดการทำนุบำรุงอยู่มาก และในปีนั้นเอง ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปทางแถบเขมร หายตัวไปเป็นเวลานานถึง 2 ปีเต็มๆ จนถึงปี พ.ศ.2397 ท่านก็กลับมาวัดสะพานสูงอีกครั้ง เพื่อทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมฟื้นฟูวัดต่อไป เพราะฉะนั้นพระปิดตาจึงน่าจะถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2397 เป็นต้นมา โดยท่านอาจจะเกณฑ์พระภิกษุและชาวบ้านในละแวกนั้นมาทำหน้าที่บดผสมว่านยาวิเศษต่างๆ และนำผงวิเศษมาผสมอีกที คลุกเคล้ากันให้ทั่ว แล้วจึงนำไปกดลงในแม่พิมพ์เป็นองค์พระปิดตา ทำไปเรื่อยๆ เมื่อพระหมดก็ทำขึ้นใหม่ แล้วก็แจกไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงท้ายชีวิตท่าน ท่านคงจะหยุดทำพระปิดตาเอง และคงมอบหมายให้หลวงปู่กลิ่น ศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านเป็นแม่งานในการสร้างพระปิดตาแทนท่านต่อไป เมื่อหลวงปู่กลิ่นและคณะศิษย์สร้างพระปิดตาเสร็จแล้ว ก็นำไปถวายให้หลวงปู่เอี่ยมองค์อาจารย์ปลุกเสกอีกที จนเป็นที่พอใจของท่านแล้วจึงนำไปแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ ชาวบ้านที่ต้องการจะบูชาวัตถุมงคลของท่าน โดยท่านอาจจะแจกไป และมีหลวงปู่กลิ่นคอยช่วยแจกอีกแรงหนึ่ง บางท่านได้จากหลวงปู่เอี่ยม ก็บอกว่าเป็นพระของหลวงปู่เอี่ยม บางท่านที่ได้จากหลวงปู่กลิ่น ก็บอกว่าเป็นของหลวงปู่กลิ่น ซึ่งล้วนแล้วก็เป็นพระปิดตาที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่เอี่ยมทั้งสิ้น


            ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระปิดตารุ่นท้ายๆ ของหลวงปู่เอี่ยม ก็คงจะมอบหมายหน้าที่ให้หลวงปู่กลิ่นศิษย์ผู้ใกล้ชิด เป็นแม่งานในการสร้างพระปิดตานั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะถึงตอนนั้นหลวงปู่เอี่ยมท่านคงจะชราภาพมากแล้ว ตามความเป็นจริงท่านจะไม่มีแรงมากำกับเข้มงวดกวดขันมากอย่างที่เคยทำ ท่านคงจะไว้วางใจให้หลวงปู่กลิ่นศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านเป็นผู้ดำเนินงาน และควบคุมการสร้างพระปิดตาแทนท่าน เพราะอันที่จริงตามประวัติที่วัดได้ลงบันทึกไว้ว่า หลวงปู่กลิ่นเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับหลวงปู่เอี่ยมมากที่สุด และเป็นศิษย์เพียงผู้เดียวที่หลวงปู่เอี่ยมยอมถ่ายทอดวิชาอาคม ตลอดจนการสร้างพระปิดตา และการสร้างตะกรุดให้จนหมดสิ้นเป็นระยะเวลา 12 ปีเต็มๆ (จาก พ.ศ.2426-2438) ที่หลวงปู่กลิ่นได้บวชศึกษาร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากองค์พระอาจารย์เอี่ยมจนแตกฉาน และเป็นผู้ที่อยู่คอยรับใช้ใกล้ชิดท่านหลวงปู่เอี่ยมโดยตลอด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลวงปู่กลิ่นเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะเป็นแม่งานในการสร้างพระปิดตาให้กับหลวงปู่เอี่ยมองค์พระอาจารย์ได้อย่างเหมาะสม อีกประการหนึ่ง หลวงปู่เอี่ยมคงอยากจะให้หลวงปู่กลิ่นได้ทดสอบความสามารถในการสร้างพระปิดตาขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าวิชาอาคมและวิธีการสร้างพระปิดตาของหลวงปู่กลิ่นผู้เป็นศิษย์นั้นได้พัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้ว อาจจะมีหลวงปู่เอี่ยมผู้เป็นอาจารย์คอยกำกับชี้แนะอยู่ห่างๆ และเป็นเจ้าพิธีในการปลุกเสกพระปิดตาในช่วงท้ายเท่านั้นเอง ก่อนที่ท่านหลวงปู่จะแจกจ่ายพระปิดตาเหล่านั้นให้กับญาติโยมบรรดาลูกศิษย์ เพื่อเป็นที่ระลึกบูชาแทนองค์หลวงปู่เอี่ยม ดังที่กล่าวมาแล้วในขั้นต้น

หลวงปู่เอี่ยม