วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม

http://www.baanbangbon.lnwshop.com

พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมวัดสะพานสูง

หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม เกิดวันพฤหัส เดือนยี่ ปีฉลู พ.ศ.2538 เป็นบุตร นายนาค นางจันทร์ นามสกุลไม่ทราบชัด ท่านเป็นพี่ชายใหญ่ และมีน้องอีก 3 คน คือ นายฟัก นางขำ และนางอิ่ม บ้านเดิมอยู่ ต.คลองพระอุดม (บ้านแหลมฝั่งใต้) ข้างวัดท้องคุ้ง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อายุ 22 ปี ได้อุปสมบทที่วัดบ่อ ต.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อุปสมบทแล้วได้อยู่ที่วัดนี้ 1 สัปดาห์ ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดกัลยาณมิตร ฝั่งธนบุรี มีพระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าอาวาส ได้เรียนพระปริยัติธรรมและแปลพระธรรมบท ได้จำพรรษาที่วัดนี้ 7 พรรษา พ.ศ.2387 ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี จำพรรษาที่วัดนี้ได้ 3 พรรษา พ.ศ.2390 นายแขกเป็นสมุห์บัญชี บ้านอยู่ข้างวัดนางชี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่าน ได้นิมนต์ให้ไปจำพรรษาที่วัดนวลนรดิศ ธนบุรี ปรากฏว่าท่านอยู่ที่วัดนี้ ท่านได้สนใจกรรมฐานเป็นอย่างมาก ได้จำพรรษาที่วัดนี้ 5 พรรษา ต่อมาภายหลังพวกชาวบ้านแหลมได้พากันไปอ้อนวอนให้หลวงปู่เอี่ยมกลับไปภูมิลำเนาเดิม ครั้นจะไม่ไปก็กลัวญาติโยมจะเสียใจ ครั้นถึงเดือน 6 พ.ศ.2395 จึงได้ย้ายมาอยู่วัดสว่างอารมณ์ (สะพานสูง)) ต.บ้านแหลมใหญ่ (ต.คลองพระอุดม) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ขณะนั้นมีพระ 2 รูปเท่านั้น ในระหว่างที่ท่านได้ย้ายมาอยู่วัดสะพานสูง ท่านได้ออกธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร โดยมีพระลูกวัดติดตามไปด้วย แต่ท่านจะให้พระลูกวัดออกเดินทางไปก่อนประมาณ 6-7 ชั่วโมง แล้วนัดพบกันในที่ใดที่หนึ่ง ท่านจะสามารถไปทันตามนัดทุกครั้ง จากการธุดงค์และรุกขมูลนี้เอง หลวงปู่เอี่ยมได้พบกับชีปะขาวชาวเขมรชื่อว่าจันทร์ ท่านจึงได้เรียนวิชาอิทธิเวทย์ จากอาจารย์ท่านนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งชาวบ้านแหลมใหญ่ นึกว่าท่านออกธุดงค์ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว เนื่องจากไม่กลับวัดมาหลายปี จึงได้ทำสังฆทานแผ่กุศลไปให้ ทำให้หลวงปู่เอี่ยมทราบในญาณของท่าน ท่านจึงเดินทางกลับวัดสะพานสูง ปรากฏว่าท่านไม่ได้ปลงผม ผมจึงยาวถึงบั้นเอว จีวรขาดรุ่งริ่ง หนวดเครายาวเฟิ้ม พร้อมกับมีสัตว์ป่า เช่น หมี เสือ งูจงอาง จากการเจริญกัมมัฏฐานนี้ มีเรื่องเล่าว่ามีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตก และดุมาก เป็นที่เกรงกลัวแก่ชาวบ้านแถบนั้น หลวงปู่เอี่ยมจึงได้มายืนเพ่งอยู่ 3 วันเท่านั้น ต้นตะเคียนก็เฉาและยืนต้นตาย หลวงปู่เอี่ยมเป็นผู้มีอาคมขลัง วาจาสิทธิ์ มักน้อย สันโดษ ท่านเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้รุ่งเรือง จนถึงปัจจุบันนี้ และท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ คือ พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ในสมัยที่ท่านสร้างพระอุโบสถ ท่านได้สร้างพระปิดตาไว้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ตะพาบ และพิมพ์ชลูด ส่วนตอนสร้างเจดีย์ท่านได้สร้างตะกรุดมหาโสฬสมงคล อันลือลั่น ซึ่งหายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก



กล่าวถึง “หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง” นักสะสมพระปิดตาทุกคนย่อมรู้จักกันดีในฐานะพระเกจิอาจารย์ ผู้สร้างพระปิดตาอันลือลั่น และตะกรุดมหาโสฬสมงคล ที่เปี่ยมไปด้วยพุทธานุภาพและอภินิหารมากด้วยประสบการณ์ ส่วนพิมพ์ของหลวงปู่เอี่ยมนั้น นอกจากท่านได้สร้างพระปิดตาอันลือลั่นแล้ว ท่านก็ได้สร้างพระพิมพ์อื่นๆ อีก ที่ข้าพเจ้าได้พบเห็นมาได้แก่ พระพิมพ์สมาธิเล็บมือเนื้อผงขาวอมเขียว และเนื้อผงคลุกรักมีทั้งเล็กและใหญ่ นอกจากนั้นก็ยังมีพระพิมพ์พระคงเนื้อคลุกรัก แต่อย่างไรก็ดี พระพิมพ์สมาธิชุดนี้ไม่ค่อยได้แพร่หลายในหมู่นักเล่นเท่าไหร่นัก เพราะพระก็หายาก และยังเล่นกันสับสนพอสมควรอีกด้วย จึงไม่เป็นที่นิยมของวงการดังเช่นพระปิดตาของท่าน





นอกจากพระพิมพ์ปิดตานิยมทั้ง 3 พิมพ์นี้แล้ว ยังมีพระปิดตาอีกพิมพ์หนึ่งที่ไม่ค่อยได้ผ่านตาเท่าไหร่ นั่นก็คือพระปิดตากลีบบัว หรือที่นักเล่นเรียกหากันว่า “พระปิดตาพิมพ์กลีบบัว” มีทั้งเนื้อผงขาวและเนื้อผงคลุกรัก สันนิษฐานว่า คงจะเป็นคณะลูกศิษย์แกะพิมพ์ขึ้นมาเอง แล้วก็สร้างถวายท่าน เพื่อให้ท่านปลุกเสกให้ หรืออาจจะเป็นแม่พิมพ์ที่สร้างในยุคหลังหรือยุคปลายชีวิตท่านหลวงปู่ เราจะเจอพระพิมพ์นี้โดยมากในพระเจดีย์ ตอนที่พระเจดีย์แตกในปลายปี พ.ศ.2534 และทางวัดก็ได้เอาพระปิดตาพิมพ์นี้ให้ประชาชนได้บูชาในราคา 10,000 บาท ต่อ 1 องค์ ล้วนแล้วเป็นพระปิดตาที่ได้มาจากองค์เจดีย์ทั้งสิ้น และก่อนหน้านี้ก็มีการแตกกรุออกมาเหมือนกัน ในสมัยหลวงพ่อทองสุข ในปี พ.ศ.2516 พระปิดตากลีบบัวก็ได้ออกมาจากกรุ แต่จำนวนไม่มากเท่าไหร่นัก













            พระปิดตาเนื้อนี้จะประกอบ หรือสร้างขึ้นด้วยผงพุทธคุณสีขาวผสมกับว่านยาวิเศษต่างๆ ที่ท่านหลวงปู่เอี่ยมหามาได้ นำมาบดกันให้ละเอียด เมื่อบดให้เข้ากันแล้วก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยใช้น้ำมันตังอิ๊วเป็นตัวประสานจนได้ที่ ก็นำเนื้อพระปิดตาที่ได้มากดลงในแม่พิมพ์พระปิดตา และเมื่อได้เป็นพระปิดตาขึ้นมาแล้ว ก็นำมาจุ่มรักอีกทีหนึ่ง พระปิดตาเนื้อนี้ เนื้อในส่วนมากจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนนวลหรือสีไข่ไก่ ในบางองค์ที่ผสมว่านยามากๆ ก็จะออกเป็นสีไข่ไก่อมเทาหรือสีเขียวนิดๆ เนื้อจะร่วนๆ ไม่แน่นตัวมากเหมือนเนื้อผงคลุกรัก พระเนื้อนี้มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ



            พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมเนื้อนี้ มีทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ ในองค์ที่เนื้อละเอียดมากๆ เนื้อหาจะออกไปทางเนื้อพระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ หรือพระปิดตาหลวงปู่จีน หรือที่เราเรียกกันว่า “เนื้อกะลา” เนื้อจะออกไปทางสีน้ำตาลเข้มละเอียด เมื่อลองส่องดูด้วยแว่นขยายอาจจะพบมวลสารหรือเม็ดรักที่ละเอียดเป็นเม็ดเล็กๆ ประปราย แต่ส่วนมากมักจะมองไม่ค่อยเห็น เพราะว่าเนื้อว่านยาจะถูกบดจนละเอียดดีแล้ว จึงนำยางรักมาเป็นตัวผสานให้เนื้อพระยึดติดกันแน่น เมื่อเนื้อพระแห้งดีแล้วจึงแลดูแน่นตัว และเป็นเนื้อเดียวกันหมด เมื่อถูกสัมผัสโดนไอเหงื่อ พระจะแลดูมันเงาหนึกนุ่มสวยอย่าบอกใคร ส่วนในองค์ที่เนื้อหยาบก็จะแลเห็นเม็ดมวลสารอยู่บนผิวพระที่ค่อนข้างหยาบไม่เรียบตึง เมื่อลองดูด้วยกล้องขยาย ก็จะเห็นเม็ดมวลสารและกากว่านยาไปจนถึงเม็ดรักสีดำได้อย่างชัดเจน ในบางองค์ที่จุ่มยางรักและผ่านการใช้มาด้วยแล้ว จะแลดูเนื้อจัด สวยซึ้งไปอีกแบบหนึ่ง เป็นที่นิยมของวงการเลยทีเดียว


            หลายท่านยังถกเถียงหาข้อยุติกันไม่ได้ว่า เนื้อผงขาวนั้นมีจริงอยู่หรือไม่ และทันหลวงปู่เอี่ยมสร้างหรือเปล่า เพราะพระเนื้อนี้มีน้อยมาก บางท่านอาจจะไม่รู้ ไม่เคยเห็น เลยตีเป็นพระของหลวงปู่กลิ่น ลูกศิษย์ท่านไปเลยก็มี แต่ในหลักของความเป็นจริงแล้ว ข้าพเจ้าว่ามีจริงอย่างแน่นอน เพราะพระอาจารย์ทุกองค์ที่เคยได้สร้างพระปิดตามาแล้วในอดีต มักจะสร้างพระปิดตาเนื้อผงขาว และเนื้อผงคลุกรักสลับกันไป ขึ้นอยู่กับการทำแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน บางทีหลวงปู่ท่านอาจจะใช้ผงพุทธคุณล้วนๆ ผสมกับส่วนผสมเพียงไม่กี่อย่าง แล้วนำไปกดพิมพ์เป็นองค์พระ ผงที่ทำนั้นอาจจะหมดโถเร็ว เพราะการสร้างแต่ละครั้งต้องใช้ผงมากและสิ้นเปลือง จึงคิดวิธีประหยัดผงให้หมดช้าลง โดยการใส่ว่านยาต่างๆ และนำยางรัก หรือน้ำมันตังอิ๊วมาเป็นตัวผสมดังที่กล่าวมาแล้วในขั้นต้น เพื่อให้ได้พระปิดตาในปริมาณที่มากกว่านั่นเอง และเพื่อเป็นการประหยัดผงพุทธคุณต่างๆ ไปในตัวด้วย

            พระปิดตาเนื้อผงขาวของหลวงปู่เอี่ยมคงจะมีไม่มากนัก เพราะเหตุว่าในการสร้างแต่ละครั้งนั้น ต้องใช้ผงพุทธคุณมาก จึงทำให้ผงพุทธคุณต่างๆ เหล่านั้นหมดเร็วขึ้น และเป็นการสิ้นเปลืองผงพุทธคุณโดยไม่จำเป็น จึงสันนิษฐานว่า ในการทำพระปิดตาเนื้อผงขาวนั้น คงจะทำขึ้นในโอกาสสำคัญๆ เพื่อเป็นที่ระลึกเท่านั้น หรือไม่ก็ทำขึ้น เพื่อบูชาเป็นที่ระลึกในหมู่ลูกศิษย์ และอาจจะเป็นไปได้ที่ว่า บรรดาลูกศิษย์อาจจะขอผงพุทธคุณจากท่านหลวงปู่ แล้วนำไปกดพิมพ์เป็นองค์พระกันเอง เมื่อกดขึ้นมาเป็นองค์พระแล้ว ก็นำพระปิดตาเนื้อผงขาวเหล่านั้นมาให้หลวงปู่ปลุกเสกเวทย์มนต์ให้อีกที ก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งสิ้น ข้อสันนิษฐานดังกล่าวจึงทำให้พระปิดตาเนื้อผงขาวนั้นมีน้อยกว่าพระปิดตาเนื้อคลุกรักมาก เลยไม่แพร่หลายและในที่สุดก็ขาดความนิยม เพราะไม่ค่อยได้เคยเห็นของจริงกัน



            นอกจากพระปิดตาเนื้อผงต่างๆ แล้ว ก็คงจะมีพระปิดตาเนื้ออื่นๆ ด้วย เช่น พระปิดตาเนื้อชินตะกั่ว ดังที่นักเล่นพระปิดตารุ่นเก่าได้เล่ากันมาว่าบรรดาลูกศิษย์ที่ใกล้ตัวท่าน คงจะเอาแผ่นตะกั่วน้ำนม ที่ท่านใช้ลงตะกรุดนั้น มาให้ท่านลงเลขยันต์อักขระให้เสร็จแล้วก็นำไปหลอมไฟให้แผ่นตะกั่วละลายแล้ว ก็เทลงในแม่พิมพ์พระปิดตา เมื่อตะกั่วแข็งตัวแล้วก็นำพระปิดตานั้นมาให้ท่านหลวงปู่ปลุกเสกอีกครั้ง บางองค์ก็ลงอักขระอีกครั้งก็มี ส่วนเนื้อไม้แกะลอยองค์ และเนื้องาแกะนั้น ก็อาจมีได้เช่นกัน คงจะมีคนแกะขึ้นแล้วนำมาถวายให้ท่านปลุกเสก จะถึงยุคหรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเก่าของเนื้อไม้และเนื้องาเหล่านั้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงคำบอกเล่าและเป็นข้อสันนิษฐาน จึงอยากให้ท่านผู้อ่านนำไปคิดพิจารณาว่าน่าจะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดตามความเหมาะสม


            พื้นผิวพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม โดยมากจะต้องดูแห้ง มีรอยปริแตกหรือรอยหดตัวของเนื้อหามวลสารไม่มากก็น้อย เนื่องจากได้ผ่านกาลเวลามาร้อยกว่าปีแล้ว คราบความเก่าย่อมปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน ถ้าเป็นองค์ที่มีเนื้อละเอียด ผิวพระจะแลดูตึง จะไม่ค่อยมีรอยหดตัวของมวลสารเท่าไหร่ เพราะว่านยาต่างๆ ถูกบดจนละเอียดมาก แล้วถ้านำยางรักมาผสมอีก เวลาเนื้อพระแห้งตัวก็จะทำให้เนื้อพระแน่นตัวและแข็งขึ้นไปอีก เพราฉะนั้นการดูผิวพระ ต้องอาศัยความชำนาญในการดูความเก่าเป็นบ้าง พระปิดตาบางองค์อาจจะมีรอยย่นหดตัวของเนื้อหามวลสารต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการบดว่านยาแต่ละครั้งว่าจะบดได้ละเอียดเพียงใด ใส่ว่านยามากน้อยเท่าไหร่ และผสมยางรักมากน้อยเท่าไร สิ่งเหล่านี้นำมาเป็นข้อพิจารณาได้ทั้งสิ้น

            สรุปแล้ว พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมควรจะมีรอยปริแตก ย่นยับ บนพื้นผิวพระไม่มากก็น้อย แต่ในบางองค์ที่มีรักทาเอาไว้ ก็ยิ่งง่ายต่อการพิจารณามากขึ้น คือให้ดูความแห้งเก่าของยางรัก ถ้าเก่าจริงจะมีรอยปริแตกของยางรัก และโดยมากยางรักมักจะกะเทาะตัวร่อนออกมาจากองค์พระไม่มากก็น้อย ผิวยางรักจะดูด้านไม่มีความเงามัน ยางรักบนพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม ส่วนมากจะเป็นสีแดงเลือดหมู หรือที่ในวงการเรียกกันว่า “รักจีน” แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นจุดตายในการดูรักบนพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยมเสมอไป นอกจากรักสีแดงเลือดหมูแล้ว ก็ยังมีรักแดงอีกที่เรียกกันทั่วไปว่า “รักน้ำเกลี้ยงและรักดำ” รวมไปถึงยางไม้ต่างๆ อีก เช่น ยางลูกพลับ เป็นต้น แม้กระทั่งชันยาเรือที่ชาวบ้านเอาไว้อุดเรือกัน จะมีลักษณะเป็นผงสีแดง ต้องนำไปผสมกับน้ำมันยางและปูนแดง (ที่กินกับหมาก) ผสมให้เข้ากันดี แล้วจึงนำไปทาองค์พระปิดตาก็มี สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความเอาใจใส่ของเจ้าของพระ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวบ้านมักจะหาวัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้ตามท้องถิ่นที่ตนอยู่อาศัยนั้นก็ได้แก่ ยางรักและยางไม้ชนิดต่างๆ ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดในสมัยนั้น หรือตามป่าหลังบ้านที่ตนอาศัยอยู่ เมื่อได้ยางไม้หรือยางรักเหล่านี้มาแล้ว ก็นำมาทาลงบนองค์พระปิดตาของตน เพื่อเป็นการถนอมผิวพระและอนุรักษ์ตามแบบฉบับของคนโบราณที่เขาทำกัน




            ถ้าจะถามว่า เป็นไปได้ไหมที่หลวงปู่เอี่ยมท่านจะสร้างพระปิดตาขึ้นก่อนหน้านี้ กระผมคิดว่าคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะตามหลักฐานที่วัดสะพานสูงบันทึกไว้อีกว่า หลวงปู่เอี่ยมได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ใดสะพานสูงในปี พ.ศ.2395 ซึ่งในขณะนั้นมีพระสงฆ์จำวัดอยู่เพียงไม่กี่รูปเท่านั้น สภาพวัดยังเป็นวัดเก่าร้างที่ขาดการทำนุบำรุงอยู่มาก และในปีนั้นเอง ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปทางแถบเขมร หายตัวไปเป็นเวลานานถึง 2 ปีเต็มๆ จนถึงปี พ.ศ.2397 ท่านก็กลับมาวัดสะพานสูงอีกครั้ง เพื่อทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมฟื้นฟูวัดต่อไป เพราะฉะนั้นพระปิดตาจึงน่าจะถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2397 เป็นต้นมา โดยท่านอาจจะเกณฑ์พระภิกษุและชาวบ้านในละแวกนั้นมาทำหน้าที่บดผสมว่านยาวิเศษต่างๆ และนำผงวิเศษมาผสมอีกที คลุกเคล้ากันให้ทั่ว แล้วจึงนำไปกดลงในแม่พิมพ์เป็นองค์พระปิดตา ทำไปเรื่อยๆ เมื่อพระหมดก็ทำขึ้นใหม่ แล้วก็แจกไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงท้ายชีวิตท่าน ท่านคงจะหยุดทำพระปิดตาเอง และคงมอบหมายให้หลวงปู่กลิ่น ศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านเป็นแม่งานในการสร้างพระปิดตาแทนท่านต่อไป เมื่อหลวงปู่กลิ่นและคณะศิษย์สร้างพระปิดตาเสร็จแล้ว ก็นำไปถวายให้หลวงปู่เอี่ยมองค์อาจารย์ปลุกเสกอีกที จนเป็นที่พอใจของท่านแล้วจึงนำไปแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ ชาวบ้านที่ต้องการจะบูชาวัตถุมงคลของท่าน โดยท่านอาจจะแจกไป และมีหลวงปู่กลิ่นคอยช่วยแจกอีกแรงหนึ่ง บางท่านได้จากหลวงปู่เอี่ยม ก็บอกว่าเป็นพระของหลวงปู่เอี่ยม บางท่านที่ได้จากหลวงปู่กลิ่น ก็บอกว่าเป็นของหลวงปู่กลิ่น ซึ่งล้วนแล้วก็เป็นพระปิดตาที่ปลุกเสกโดยหลวงปู่เอี่ยมทั้งสิ้น


            ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระปิดตารุ่นท้ายๆ ของหลวงปู่เอี่ยม ก็คงจะมอบหมายหน้าที่ให้หลวงปู่กลิ่นศิษย์ผู้ใกล้ชิด เป็นแม่งานในการสร้างพระปิดตานั้น ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะถึงตอนนั้นหลวงปู่เอี่ยมท่านคงจะชราภาพมากแล้ว ตามความเป็นจริงท่านจะไม่มีแรงมากำกับเข้มงวดกวดขันมากอย่างที่เคยทำ ท่านคงจะไว้วางใจให้หลวงปู่กลิ่นศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านเป็นผู้ดำเนินงาน และควบคุมการสร้างพระปิดตาแทนท่าน เพราะอันที่จริงตามประวัติที่วัดได้ลงบันทึกไว้ว่า หลวงปู่กลิ่นเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับหลวงปู่เอี่ยมมากที่สุด และเป็นศิษย์เพียงผู้เดียวที่หลวงปู่เอี่ยมยอมถ่ายทอดวิชาอาคม ตลอดจนการสร้างพระปิดตา และการสร้างตะกรุดให้จนหมดสิ้นเป็นระยะเวลา 12 ปีเต็มๆ (จาก พ.ศ.2426-2438) ที่หลวงปู่กลิ่นได้บวชศึกษาร่ำเรียนวิชาอาคมต่างๆ จากองค์พระอาจารย์เอี่ยมจนแตกฉาน และเป็นผู้ที่อยู่คอยรับใช้ใกล้ชิดท่านหลวงปู่เอี่ยมโดยตลอด จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า หลวงปู่กลิ่นเป็นผู้ที่มีความสามารถที่จะเป็นแม่งานในการสร้างพระปิดตาให้กับหลวงปู่เอี่ยมองค์พระอาจารย์ได้อย่างเหมาะสม อีกประการหนึ่ง หลวงปู่เอี่ยมคงอยากจะให้หลวงปู่กลิ่นได้ทดสอบความสามารถในการสร้างพระปิดตาขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่าวิชาอาคมและวิธีการสร้างพระปิดตาของหลวงปู่กลิ่นผู้เป็นศิษย์นั้นได้พัฒนาไปถึงขั้นไหนแล้ว อาจจะมีหลวงปู่เอี่ยมผู้เป็นอาจารย์คอยกำกับชี้แนะอยู่ห่างๆ และเป็นเจ้าพิธีในการปลุกเสกพระปิดตาในช่วงท้ายเท่านั้นเอง ก่อนที่ท่านหลวงปู่จะแจกจ่ายพระปิดตาเหล่านั้นให้กับญาติโยมบรรดาลูกศิษย์ เพื่อเป็นที่ระลึกบูชาแทนองค์หลวงปู่เอี่ยม ดังที่กล่าวมาแล้วในขั้นต้น

หลวงปู่เอี่ยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น