วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2555

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ อ.เมือง จ.ชลบุรี




พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว เป็นที่เสาะแสวงหากันมาก เนื่องจากมีประสบการณ์ แม้แต่พระเกจิอาจารย์แถบฝั่งตะวันออก เมื่อหลวงพ่อแก้วมรณภาพแล้ว มีหลายวัดสร้างพระปิดตากัน จนใครเห็นก็เรียกว่า พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว

ในกระบวนพระปิดตาที่พระคณาจารย์ผู้ได้สร้างเป็นรูป องค์ภควัมบดี ประเภทเนื้อผงคลุกรัก หรือจุ่มรักที่ยิ่งใหญ่แห่งภาคตะวันออก ก็ต้องยกนิ้วให้กับ พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ เมืองชลบุรี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดพระปิดตาที่ใครๆ ต้องยอมรับว่าของท่านแน่จริงๆ

ในขบวนพระชุด "ห้าขุนศึก" ที่ชาววงการเรียกหากันนี้น มีดังนี้
1. พระปิดตาหลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์
2. พระปิดตาหลวงปู่เจียม วัดกำแพง
3. พระปิดตาหลวงพ่อโต วัดเนินสุทธาวาส
4. พระปิดตาหลวงพ่อครีพ วัดสมถะ
5. พระปิดตาหลวงพ่อภู่ วัดนอก
ซึ่งแต่ละองค์ที่ได้กล่าวนามมานี้ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองชลบุรี

ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของ องค์ภควัมบดี ที่หลวงพ่อแก้ว ใช้ในด้านเมตตามหานิยม คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ทุกคนต่างยอมรับ ด้วยเหตุนี้พระของท่านในวงการจึงยกย่องให้อยู่ในอันดับหนึ่งของพระปิดตาประเภทผงคลุกรักหรือจุ่มรัก

เป็นที่น่าเสียดายว่า ชีวประวัติของท่านนั้นลางเลือนเต็มที เพราะไม่มีใครเขียนรวบรวมไว้ ทุกท่านจึงไม่มีโอกาสที่จะได้ทราบประวัติอันแท้จริงของท่าน นอกจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ได้แล่าสืบกันมา แต่ไม่ใช่นิยาย

ปกติข้าพเจ้าได้สนใจเรื่องพระปิดตาของท่าน และได้พยายามค้นคว้าศึกษาชีวประวัติของท่านมาเป็นเวลานาน ได้มีโอกาสสนทนากับผู้เฒ่าผู้แก่ในละแวกนั้น และพระเถรานุเถระ อีกทั้งพระที่อยู่ในเขตเมืองชลบุรีมาเก่าแก่ ได้เล่าถึงความเป็นมาของหลวงพ่อแก้ว พอที่จะรวบรวมเป็นข้อมูลมาให้ทุกท่านได้มีโอกาสศึกษากัน

หนังสือหลายฉบับเขียนกันมาก็มากพอสมควร ส่วนมากจะเขียนว่า ท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด และเป็นพระอุปัชฌาย์ โดยแท้จริงแล้ว หลวงพ่อแก้วไม่เคยเป็นเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์มาก่อน ท่านเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาเท่านั้น ส่วนที่ว่าเป็นพระอุปัชฌาย์เจ้าอาวาสนั้นคือ หลวงพ่อแก้ว วัดหนองตำลึง ชลบุรี ซึ่งมีพรรษาอ่อนกว่า หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ 20 กว่าปีนั่นเอง

หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ นามเดิมชื่อ แก้ว ต้นสกุล ผุดผาด ถิ่นกำเนิดเป็นชาวเมืองเพชรบุรี มีถิ่นฐานอยู่แถวๆ หลังวัดป้อม เพชรบุรี กล่าวกันว่าชาติสกุลของท่านเคยเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรีมาก่อน รูปร่างของท่านสันทัด มีผิวกายดำมะเมื่อม (เพราะอาบว่านยา) ในวัยหนุ่มเป็นคนพูดจริงทำจริง นิสัยนักเลงไม่เกรงกลัวใคร สนใจศึกษาวิชาอาคมมาตั้งแต่วัยหนุ่ม อีกทั้งยังเชี่ยวชาญด้วย ชาวบ้านในละแวกนั้น ต่างศรัทธาเลื่อมใส เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาให้ท่านรักษาให้ (เรียกว่าหมอประจำหมู่บ้าน) อีกทั้งท่านยังเป็นอาจารย์สัก ลูกศิษย์ลูกหามากมาย บ้างก็มาขอให้ทำเสน่ห์ยาแฝด บางคนถูกคุณไสยอีกทั้งยาเบื่อยาสั่ง ก็มาให้ท่านช่วยรักษาให้ จนกิตติศัพท์ของท่านโด่งดังไปทั่ว จวบจนอายุท่านเข้าวัยกลางคน คือ อายุประมาณ 40 เศษ ท่านเกิดเบื่อหน่ายกับความวุ่นวายในชีวิตฆราวาส จึงได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดในจังหวัดเพชรบุรี บางท่านก็ว่าบวชที่วัดปากทะเล บางท่านก็ว่าบวชที่วัดพระทรง

ตามข้อมูลสันนิษฐานจากผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เล่าสืบกันมาพอเชื่อถือได้ว่า ท่านบวชอยู่วัดพระทรงเพียงไม่กี่พรรษา ก็เกิดความรำคาญที่ไม่ค่อยมีเวลาปฏิบัติ เพราะลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาท่านตอนเป็นฆราวาสต่างไปรบกวนกันทุกวันจนไม่มีเวลาพักผ่อน ท่านจึงได้ย้ายมาอยู่ที่ วัดปากทะเล และได้มีเวลาว่างจัดสร้างพระขึ้น โดยท่านมีความเชี่ยวชาญในด้านว่านและสมุนไพรมาก ท่านจึงนำผสมผสานกับผงที่ท่านลงสูตรเก็บไว้ มาสร้างเป็นองค์พระแจกจ่ายแก่ผู้มีศรัทธา หลังจากท่านย้ายไปอยู่วัดปากทะเลไม่นาน ก็มีลูกศิษย์ลูกหาติดตามไปหาท่านอีก นับวันจะทวีมากขึ้น ท่านเจ้าอาวาสเกิดการเขม่นท่านที่เป็นพระลูกวัดแต่มีคนศรัทธามาก แต่เจ้าอาวาสกลับไม่ค่อยมีใครไปหาเท่าไหร่ จึงได้พูดจาเสียดสีอยู่ทุกวัน ท่านก็เกิดการสังเวชสลดใจ จึงตัดสินใจอาศัยเรือชาวประมงข้ามทะเลมาจำพรรษาอยู่ที่วัดเครือวัลย์ ชลบุรี กล่าวกันว่าในขณะนั้นท่านอายุได้ 60 ปีเศษ และทางวัดเครือวัลย์ในยุคนั้นยังไม่เจริญ ถาวรวัตถุต่างๆ ก็ชำรุดทรุดโทรมลง ท่านได้มาจำพรรษาอยู่อย่างเงียบๆ ปฏิบัติวัปัสสนากรรมฐาน พอออกพรรษาท่านก็ออกเดินธุดงค์ไปทั่ว

มีเรื่องเล่าว่า ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางจังหวัดปราจีนบุรี และได้อยู่ศึกษาวิชาอาคมกับ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะเป็นทางผ่าน กล่าวกันว่า หลวงพ่อแก้ว มีอายุอ่อนกว่า หลวงปู่จีน 28 ปี พอจะอนุมานได้ดังนี้ หลวงปู่จีนเกิดในระหว่างปี พ.ศ.2357-2440 ส่วนหลวงพ่อแก้ว เกิดในระหว่างปี พ.ศ.2380-2390 ซึ่งตรงกับผู้เฒ่าชาวเมืองชลบุรีได้เล่าว่า ในสมัยที่ หลวงพ่อแก้ว มีชื่อเสียงโด่งดังเกี่ยวกับพระปิดตาของท่าน เป็นยุคที่ พระอุปัชฌาย์ถัน เป็นเจ้าอาวาสวัดเครือวัลย์ แต่มีอายุอ่อนกว่าหลวงพ่อแก้วหลายสิบปี เพราะว่าถ้า หลวงพ่อแก้วเกิดในระหว่างปี พ.ศ.2380 ตอนหลวงพ่อถัน เป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อแก้วมรณภาพอายุประมาณ 80 กว่า ก็อยู่ระหว่าง พ.ศ.2460-2470 เมื่อคำนวณ พ.ศ. แล้วก็มีความใกล้เคียงกันถึง 95 % ทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น